วันนี้ลองมาอัพ workshop การทำสนเลื้อย (Juniperus Procumbens) ให้ดูกันนะครับ
ไม้ต้นนี้ผมได้มาจากอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่...เจ้าของสวนวางไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ ทำให้เจ้าสนต้นนี้ปรับตัวโดยการตั้งลำต้นขึ้นเพื่อแสวงหาแสงแดด ไม่เลื้อยออกข้างเหมือนปรกติทั่วไปของสนเลื้อย ซึ่งหา
ได้ไม่ง่ายนักครับ...
รูปนี้คือสภาพที่ได้มาครับ (จริงๆแล้วกิ่งด้านหน้าที่เห็นเป็นรอยตัดเพิ่งตัดตอนได้ไม้มาแต่ลืมถ่ายไว้ครับ)
สภาพที่เห็นคือ ไม้มีความอ่อนแอพอสมควรและมีสภาพที่ดิ้นรนเอาตัวรอดในสภาพแสงน้อยมาก่อน
โดยสังเกตุได้จากช่อใบที่ยาวอ่อนแอและแทงขึ้นบน ซึ่งผิดธรรมชาติของสนชนิดนี้... ดังนั้นผมจึงคิดออกแบบไม้ต้นนี้โดยการดึงจุดเด่นเพื่อมาเสริมจุดด้อย
หลังจากที่เคลียกิ่งตาย, กิ่งที่ไม่ต้องการและกิ่งที่เล็กไปและใหญ่เกินไปออกแล้ว เราก็จะสามารถมองรูปทรงของไม้ได้ออกมากขึ้น ทีนี้ลองมาวิเคราะห์กันดู ไม้ต้นนี้มีลีลาของลำต้นที่น่ามอง กล่าวคือมีการบิดเพื่อดิ้นรนเอาตัวรอดตามธรรมชาติ มีสันรากที่พอใช้ (ด้านหลังแหว่งไปบ้างครับ สามารถปลูกหญ้าเล็กๆชิดโคนเพื่อปิดจุดด้อยได้ภายหลัง)และมีลักษณะที่แปลกซึ่งไม่พบในสนเลื้อยทั่วๆไปคือเป็นสนเลื้อยทรงต้น...
จุดด้อยของไม้ต้นนี้คือมีกิ่งที่อ่อนแอและอยู่ค่อยข้างสูง... ด้วยลักษณะตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผมจึงตัดสินใจที่จะทำเป็นไม้ทรงบัญฑิต (Bunjin หรือ Literati) ซึ่งเป็นรูปแบบที่สามารถใช้รูปทรงที่สูงยืดของไม้ มาเป็นจุดเด่น... เรื่องของไม้บัญฑิตผมจะขออธิบายเพิ่มเติมในภายหลังนะครับ
ทำการลอกเปลือกและแกะซาก... ทำไมจูนิเปอร์จึงมักมีซาก?...
เพราะเป็นลักษณะตามธรรมชาติของไม้ตระกูลสนครับ และยังแสดงถึงความเก่าแก่ได้อย่างดีอีกด้วย
อีกอย่างหนึ่ง...เนื่อจากไม้ตระกูลสนนั้นเป็นไม้ที่เจริญเติบโตช้า การที่แผลจากการตัดกิ่งที่ใหญ่ๆจะรักษาตัวเองจนหุ้มหมดใช้เวลานาน...การทำซาก (Shari) และกิ่งตาย (Jin) จึงเป็นทางเลือกที่ดี
ทำการเผาเสี้ยนให้หมด จริงๆแล้วต้องใช้ไฟฟู่ เพื่อให้ควบคุมจุดที่จะเผาได้ดีกว่าและไม่เป็นการทำลายส่วนที่มีชีวิต...แต่วันนั้น ออกซิเจนเจ้ากรรมดันหมด ผลก็คือได้ไฟเหมือนไฟแช๊กที่ปลายหัวเป่าแทน...
(ขอขอบคุณเพื่อนข้างบ้านที่ให้ยืมหัวเป่า ถึงแม้เขาจะได้อ่านหรือไม่ก็ตามที)
ทาทับด้วยน้ำยารักษาซากไม้ (Lime Sulfer)...
จริงๆแล้วที่ผมเคยศึกษามาเขาให้ทาหลังจากที่ไม้แห้งสนิทแล้ว แต่จากการที่เห็นวีดีโอสาธิตต่างๆและการแนะนำของพี่เผินใจ ก็พบว่าสามารถทาทับได้ทันทีเหมือนกันหากไม้ผ่านการเผามาแล้ว...ก็ลองๆดู
ลองเข้าลวดคร่าวๆและออกแบบไปเรื่อยๆ เนื่องจากงานนี้เป็นการทำสด ไม่มีสเก็ตเหมือนบางต้นที่ผ่านมา
เสร็จสำหรับครั้งนี้ครับ ความสูงสุธิประมาณ 40 ซม ต่อจากนี้ก็เป็นการเลี้ยงรายละเอียดและขุนให้ไม้สมบูรณ์พอที่จะตัดรากออกไปอีกในอนาคต...
"ไม้บัญฑิต...น้อยแต่มาก"
แปลจากหนังสือ bonsai today masters' series "Juniper" หน้า77 โดยอู๋ เชียงใหม่
ไม้บัญฑิต หรือ Bunjin Style นั้นยากที่จะให้คำนิยาม ดั่งที่ โทมิโอะ ยามาดะ ผู้ที่ได้รับอิธิพลในการทำไม้บัญฑิตจากภาพเขียนจีนโบราณ กล่าวว่า "มันคือไม้ที่ดูเพลิดเพลินใจยามจิบชา คือไม้ที่มีลีลาเป็นธรรมชาติ และเป็นไม้ที่ทำให้คุณรู้สึกอ้างว้างเล็กน้อยเมื่อเพ่งดู"
ถ้าจะกล่าวถึงนิยามโดยทั่วไปของไม้ทรงบัญฑิตนั้นก็อาจจะพูดได้ว่า เป็นไม้ที่มีลำต้นผอม, ไร้กิ่งล่าง, มีกิ่งบนจำนวนน้อยและมีลีลาที่อ่อนช้อยอรชร... บ่อยครั้งสิ่งเหล่านี้มักจะหักล้างกฎของตำแหน่งกิ่งมาตราฐานไปเลย คุณยามาดะกล่าวว่า "โดยทั่วไปนั้น ไม้บัญฑิตมันถูกออกแบบให้เป็นทรงโน้มเอียงและทรงต้น แต่บางครั้งมันถูกออกแบบมาในรูปแบบของไม้ตกกระถาง, ลู่ลม และ กลุ่มกอ อีกด้วย"
"ไม่มีนิยามที่เข้มงวดสำหรับไม้บัญฑิต" โมริโอะ ซูซูกิ กล่าว... "คุณสามารถจัดการรูปทรงได้ตามจินตนาการ แต่ผลลัพต้องดูละเอียดอ่อน, สง่างาม, ดูดีและสวยงามด้วยลำต้นผอมบางและใบอันน้อยนิด"
"ลักษณะที่สำคัณที่สุด คือลีลาของลำต้น" คุณซูซูกิอธิบาย "แม้ว่ามันไม่มีมาตราฐานที่แน่นอน...ไม้บัญฑิตควรจะชวนให้นึกถึง ต้นไม้ที่เจริญเติบโตขึ้นในหุบเขาลึก ที่ซึ่งต้นไม้ได้แทงยอดขึ้นสูงลิบเพื่อแสวงหาแสงสว่าง แต่เนื่องจากการดิ้นรนแย่งอาหารกันของต้นไม้ข้างเคียง กิ่งต่างๆจึงเติบโตในลักษณะที่เลี่ยงการบดบังแสงสว่างโดยมีการหงิกงอและมีกิ่งที่สั้นติดลำต้น"
"เมื่อมันไม่มีมาตราฐานที่แน่ชัด...คุณสามารถจัดกิ่งแบบบังหน้าไม้ หรือจัดกิ่งหลักให้เป็นกิ่งหน้าไปจนถึงการจับหักหัวห้อยลง"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น